รัฐมนตรีคลังจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 20 ประเทศ หรือกลุ่มจี-20 ให้คำมั่นที่จะคงนโยบายสนับสนุนทางเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 จะมีความชัดเจนแน่นอน
แถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศจี-20 ที่ออกมาในวันพุธ ระบุว่า กลุ่มประเทศสมาชิกจะยังคงเดินหน้าผลักดันให้มีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ โดยจะพยายามหลีกเลี่ยงการยุติมาตรการสนับสนุนต่างๆ ก่อนเวลาอันควรด้วย”
และแม้ว่าสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่ผ่านมาจะมีความแข็งแกร่งพอควร แถลงการณ์ของรัฐมนตรีคลังกลุ่มจี-20 ชี้ว่า ระดับการฟื้นตัวในแต่ละประเทศ “ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก” และให้คำมั่นว่า ทางกลุ่มยึดมั่นต่อความตั้งใจที่จะใช้ “เครื่องมือต่างๆ ที่มีต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขผลกระทบอันร้ายแรงจากโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” ขณะที่จะคอยจับตาดูสถานการณ์การปรับขึ้นของราคาสินค้าต่างๆ อย่างใกล้ชิดด้วย
การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี-20 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้นมีขึ้นในช่วงเวลาที่ซัพพลายเออร์ทั่วโลกกำลังมีปัญหาที่จะจัดหาสินค้ามาตอบสนองความต้องการของตลาด โดยปัญหาติดขัดในภาคการขนส่งสินค้าที่ดำเนินอยู่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบหลักๆ และทำให้ราคาสินค้ายิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก อย่างเช่น ราคาน้ำมันโลกที่ทะยานขึ้นเหนือระดับกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ธนาคารโลกประเมินไว้ว่า เรือขนส่งสินค้าทั่วโลกราว 8.5 เปอร์เซ็นต์ยังคงติดอยู่ตามท่าเรือต่างๆ ในเวลานี้ โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาด้วย
ผู้ว่าการธนาคารโลกจากประเทศกลุ่มจี-20 เองกำลังเร่งศึกษาว่า ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้มีสาเหตุอื่นใดโดยเฉพาะในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ นอกเหนือจากข้อสังเกตที่ว่า ปัจจัยชั่วคราวน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ความต้องการสินค้าทั้งหลายพุ่งสูง และส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารธนาคารกลางกลุ่มจี-20 นั้นถูกกดดันให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง โดยต้องให้การสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับคอยระวังไม่ให้อัตราเงินเฟื้อพุ่งสูงเกินไป
แถลงการณ์จากการประชุมกลุ่มจี-20 ระบุว่า ธนาคารกลางทั้งหลาย “จะทำการใดๆ ต่อเมื่อมีความจำเป็น” เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้า
ขณะเดียวกัน คริสตาลินา เกออร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ความเห็นว่า การแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ทั่วถึงเท่าเทียมกันในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา คืออีกปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะอุปทานมีจำกัด พร้อมย้ำว่า “ยิ่งหากช่องว่าง(ของการแจกจ่ายวัคซีน) รุนแรงขึ้น ความเสี่ยงของการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานโลกก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก”