สหราชอาณาจักรเตรียมผลิต ‘แม่เหล็กจากสินแร่หายาก’ ลดการพึ่งพาจีน 


สหราชอาณาจักรอาจจะฟื้นฟูการผลิตแม่เหล็กแรงดูดสูงในประเทศอีกครั้ง เพื่อใช้ในการผลิตยานยนต์และกังหันลม หลังจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ จากการเปิดเผยของแหล่งข่าว ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นกำหนดเวลาของการนำเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งเป็นการศึกษาที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล เพื่อวางขั้นตอนที่จำเป็นในการฟื้นฟูการผลิตแม่เหล็กที่ทำจากสินแร่หายากขึ้นอีกครั้ง

การก่อตั้งโรงงานผลิตแม่เหล็กจากสินแร่หายาก หรือที่เรียกว่าแม่เหล็กถาวรดังกล่าว จะช่วยให้อังกฤษบรรลุเป้าหมายที่ต้องการห้เลิกใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันและดีเซลภายในปี ค.ศ. 2030 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050

ในเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้วางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึงการใช้งบประมาณ 1,150 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่การผลิตอื่น ๆ

รายงานศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการสร้างโรงงานแม่เหล็กภายในอีกสามปีข้างหน้า และในที่สุดจะสามารถผลิตแม่เหล็กแรงดูดสูงเพื่อป้อนตลาดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 1 ล้านคันต่อปี

บริษัทสินแร่หายากของอังกฤษ Less Common Metals เป็นผู้จัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าว และเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่ได้อยู่ในจีนที่ทำหน้าที่แปรสินแร่หายากให้เป็นสารประกอบในการทำแม่เหล็กถาวร

แม่เหล็กสินแร่หายากที่ทำมาจากนีโอไดเมียม ถูกนำมาใช้ใน 90% ของแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นที่ยอมรับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการให้พลังงานขับเคลื่อน รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แม่เหล็กประเภทนี้จะใช้พลังงานจากแบตเตอรีน้อยกว่ารถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป และวิ่งได้ไกลกว่าก่อนที่จะต้องชาร์จแบตเตอรีอีกครั้ง

นอกจากนี้แหล่งข่าวยังกล่าวกับรอยเตอร์ด้วยว่าการสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้อังกฤษสามารถแข่งขันกับจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินแร่หายากรายใหญ่ของโลก หรือประมาณ 90% ของสินแร่หายากทั้งหมด

กลยุทธ์ของสหราชอาณาจักรดังกล่าวนี้คล้ายกับความพยายามของสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมแร่ธาติ สินแร่หายาก และแม่เหล็กถาวรภายในประเทศ



ลิงค์ที่มา