เด็บสวานาและหัวเว่ยเปิดตัวโครงการเหมืองเพชรอัจฉริยะโครงการแรกของโลกที่ใช้ 5G เป็นหลัก
เด็บสวานา (Debswana) และหัวเว่ย (Huawei) ร่วมกันประกาศเปิดตัวโครงการเหมืองเพชรอัจฉริยะโครงการแรกของโลกที่ใช้ 5G เป็นหลัก ในงานเอ็มดับบลิวซี บาร์เซโลนา (MWC Barcelona) ประจำปี 2566
คุณโมเลมีซี เนลสัน เซชาบา (Molemisi Nelson Sechaba) ประธานฝ่ายการจัดการสารสนเทศของเด็บสวานาระบุว่า มีการติดตั้งโซลูชันเหมืองอัจฉริยะของหัวเว่ยที่เหมืองเพชรแบบเปิด (open-pit) ของเด็บสวานาในเมืองจวาเนง (Jwaneng) และโครงการดังกล่าวนี้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคม 2564 โซลูชันเครือข่ายส่วนตัวแบบ 4G eLTE ของหัวเว่ยให้การเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพสำหรับเหมืองในจวาเนงนี้ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กว่า 260 ชิ้น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อถึงกัน ระหว่างระบบการผลิต ระบบความปลอดภัย และระบบความมั่นคงของเหมือง
คุณเซชาบากล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องติดตั้งใช้งานโซลูชัน eLTE เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์เหมืองอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมีเหตุผลสองประการ ประการแรกคือประสิทธิภาพ หรือความสามารถที่จะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ทำให้อุปกรณ์อย่างเช่นยานพาหนะงานเหมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตและลดค่าใช้จ่ายการดำเนินการ (OPEX) ในระยะยาว ประการที่สองคือโซลูชันดังกล่าวช่วยยกระดับความปลอดภัย การเก็บข้อมูล การแบ็กฮอล และปฏิสัมพันธ์แบบเรียลไทม์ ทำให้ระบบมีความไวและแม่นยำมากขึ้นในการมอบการปกป้องที่เชื่อถือได้ยิ่งขึ้นสำหรับพนักงานและยานพาหนะ
เหมืองในจวาเนงนี้เป็นเหมืองเพชรอัจฉริยะโครงการแรกของโลกที่ใช้ 5G เป็นหลัก หมายความว่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อย่างเช่นสถานีฐานที่ใช้ในโซลูชันการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของเหมืองรองรับการอัปเกรดเครือข่ายเป็น 5G โดยคุณสมบัติของ 5G อย่างแบนด์วิดท์การส่งถ่ายข้อมูลสูงและความหน่วงต่ำสามารถรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างเช่นการขับขี่อัตโนมัติได้ ซึ่งเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างเป็นอัจฉริยะมากขึ้นของอุตสาหกรรมเหมืองต่อไปในอนาคต
ฯพณฯ ธูลากาโน เอ็ม. เซก็อคโก (Hon. Thulagano M. Segokgo) รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร ความรู้ และเทคโนโลยีแห่งบอตสวานา กล่าวว่า รัฐบาลบอตสวานายินดีที่ได้เห็นการผนึกกำลังระหว่างเด็บสวานาและหัวเว่ยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรมเหมือง เด็บสวานาเป็นบริษัทเหมืองชั้นนำในแอฟริกา ซึ่งการทำงานร่วมกับหัวเว่ยนี้สามารถที่จะยกระดับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และความปลอดภัยของการทำเหมืองแร่ขึ้นไปอีกขั้น ทั้งนี้ รัฐบาลบอตสวานาจะดำเนินมาตรการส่งเสริมต่อไปเพื่อสนับสนุนแผนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลมากขึ้นในทุกหมวดธุรกิจ รวมทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ประกอบกับยินดีต้อนรับบริษัทระหว่างประเทศ อย่างเช่นหัวเว่ย ในการเข้าร่วมในแผนการดังกล่าวนี้ ขณะนี้มาตรการต่าง ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการแล้ว รวมถึงแผนการปรับเปลี่ยนสู่เทคโนโลยีดิจิทัล แผนงาน 5G ตลอดจนนโยบายสนับสนุนอื่น ๆ
คุณสวี จวิน (Xu Jun) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ของหัวเว่ย (Huawei Mine BU) ระบุว่า หัวเว่ยยึดมั่นในพันธกิจที่จะใช้ความแข็งแกร่งของหัวเว่ยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อย่าง 5G คลาวด์ เอไอ และ IoT เพื่อพัฒนาโซลูชันเหมืองอัจฉริยะสำหรับลูกค้าในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั่วโลก
คุณเหลียว หยง (Liao Yong) รองประธานประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราของหัวเว่ย ชี้ว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้บริการต่าง ๆ แก่องค์กรธุรกิจเหมืองแร่ในหลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ รวมถึงในแอฟริกาใต้ บอตสวานา แซมเบีย นามิเบีย และกานา ในอนาคต หัวเว่ยจะทำงานร่วมกับคู่ค้าในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในด้านเหมืองแร่และสร้างมูลค่ามากขึ้นในแอฟริกา
เด็บสวานาระบุว่า บริษัทฯ จะสานต่อความสำเร็จของโครงการในเหมืองจวาเนงที่ติดตั้งร่วมกับหัวเว่ยและบริษัทท้องถิ่นในบอตสวานา ซึ่งสอดคล้องกับโครงการส่งเสริมประชาชนในด้านเศรษฐกิจของบอตสวานา ด้วยการวางแผนที่จะติดตั้งใช้งานโซลูชันเหมืองอัจฉริยะในเหมืองของบริษัทฯ ในโอราปา (Orapa) ดามท์ชา (Damtshaa) และเล็ทลาเคน (Letlhakane) ในปี 2566
รูปภาพ: https://mma.prnewswire.com/media/2011876/PIC.jpg