เศรษฐกิจเอเชียระส่ำจากวิกฤตขาดแคลนวัตถุดิบ-แรงงาน ต้นทุนขนส่งพุ่ง และการปิดตัวของโรงงาน


สภาพเศรษฐกิจในเอเชียกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ อันเนื่องมาจากวิกฤตปัญหารอบด้าน ตั้งแต่เรื่อง การขาดแคลนพลังงานและชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ไปจนถึง ต้นทุนการขนส่งทางเรือที่เพิ่มสูง และการปิดตัวของโรงงานต่างๆ เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ตามรายงานของสำนักข่าว เอพี

รายงานข่าวระบุว่า ขณะที่ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศกำลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 อยู่นี้ รัฐบาลอีกหลายประเทศกลับต้องมาบังคับใช้แผนงานต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทำให้ภาพรวมเกี่ยวกับทิศทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในแง่ของภูมิภาคและของโลกยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

และข้อมูลที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยในวันพฤหัสบดี แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตโรงงานของญี่ปุ่นชะลอตัวลงมาที่ระดับ 3.2 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งรายงานการลดลงไว้ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์

สถานการณ์ในญี่ปุ่นที่ยังดูไม่ดีอยู่นี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมในเอเชียที่รายงานการปิดตัวของโรงงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

รายงานโดยรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตรถและผู้ผลิตสินค้าไอที รวมทั้งเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ กลายมาเป็นผู้ผลิตรถรายล่าสุดที่ออกมาประกาศพักสายการผลิตเพิ่มอีก 2-3 วัน เนื่องจากการขาดแคลนชิ้นส่วน หลังคู่แข่งรายอื่นๆ ประกาศชะลอสายการผลิตด้วยเหตุผลเดียวกันไปก่อนหน้า

นอกจากนั้น ตัวเลขค้าปลีกญี่ปุ่นยังตกต่ำหนักว่าคาดถึง 4.1 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องใช้ผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง

Asia Economy

Asia Economy

ขณะเดียวกัน ภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตของจีนก็อ่อนตัวลงเช่นกัน โดยผลการสำรวจอย่างเป็นทางการของผู้จัดการโรงงานทั้งหลายพบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือนกันยายนอยู่ที่ 49.6 หรือลดลงจากระดับ 50.1 ในเดือนสิงหาคม

รายงานข่าวระบุว่า การสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีรายงานการขาดแคลนพลังงานในจีน ที่ทำให้โรงงานในบางภูมิภาคของประเทศต้องระงับการทำงานไปเมื่อเร็วๆ นี้

สาเหตุของการลดลงของดัชนีนี้คือ ความต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น เพราะนโยบายการทำงานจากบ้าน ทำให้มีไมโครชิปไม่พอสำหรับการผลิต ขณะที่ การขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าทางเรือและการปิดทำการของท่าเรือต่างๆ เป็นระยะๆ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ก็มีส่วนทำให้เกิดเหตุสะดุดในห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย

(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)



ลิงค์ที่มา