ธุรกิจแฟชั่นเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากเอเชีย สะท้อนพิษจากโควิดระยะยาว


เป็นเวลากว่าหลายสิบปีที่ประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียนั้นทำหน้าที่เป็นฐานการผลิตสำคัญสำหรับแบรนด์ระดับโลกหลากยี่ห้อ

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดได้ส่งผลให้การส่งสินค้าจากฝั่งเอเชียไปยังตลาดโลกเกิดความล่าช้า ซ้ำโรงงานบางแห่งในประเทศเหล่านี้ยังต้องปิดตัวลงไปเพราะโควิดอีกด้วย

การระบาดของโคโนนาไวรัสในเอเชียนานเกือบถึงสองปีนั้นได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ก่อให้เกิดความล่าช้าพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการขนส่งสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาต่างๆที่เป็นฐานการผลิตในบริเวณเอเชียไปยังตลาดใหญ่ๆในส่วนอื่นของโลก เช่นในยุโรปหรืออเมริกา บริษัทเสื้อผ้าชื่อดังหลายยี่ห้อจึงเริ่มหันไปตั้งโรงงานในประเทศเเถบเมดิเตอร์เรเนียนแทนเพื่อจัดการกับปัญหาข้างต้น

แมสซิโม เรนอน ผู้บริหารระดับสูงของเสื้อผ้ายี่ห้อดังสัญชาติอิตาลี Benetton บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าจะลดฐานการผลิตกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทออกจากทวีปเอเชียภายในสิ้นปี 2022 และจะย้ายไปผลิตในประเทศทางแถบเมดิเตอร์เรเนียนอย่าง เซอร์เบีย โครเอเชีย ตุรกี ตูนิเซียและอียิปต์แทน ซึ่งประเทศเหล่านี้อยู่ใกล้กับอิตาลีมากกว่า

กลยุทธ์ดังกล่าวจะฉีกโมเดลการทำธุรกิจของหลายๆบริษัทที่เน้นผลิตสินค้าในเอเชียในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา คุณแมสซิโม้อธิบายว่า แผนของบริษัทข้างต้นนั้นจะตัดความยุ่งยากในการขนส่งและช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยในปีนี้ แบรนด์ Benetton ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากบังกลาเทศ เวียดนาม จีนและอินเดียแล้วถึง 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว

Vietnamese workers work at a sportswear production line for Nike at the Nha Be garment company in Ho Chi Minh City

Vietnamese workers work at a sportswear production line for Nike at the Nha Be garment company in Ho Chi Minh City

ฐานผลิตในเมดิเตอร์เรเนียนเริ่มเข้ามาแทนที่เอเชีย

คุณแมสซิโมยกตัวอย่างให้ฟังว่า แม้ตุ้นทุนการผลิตในประเทศโซนเอเชียอย่างเวียดนามและบังกลาเทศจะถูกกว่าประเทศในโซนเมดิเตอร์เรเนียนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากเอเชียที่ถูกยืดออกไปจากปกติ 4-5 เดือนเป็น 7-8 เดือน เนื่องจากปัญหาทางด้านการขนส่งเพราะโควิดทำให้ข้อดีข้างต้นนั้นไม่คุ้มค่าอีกต่อไป

ทั้งนี้ การผลิตในประเทศอียิปต์ยังสามารถส่งสินค้าไปยังโรงงานและหน้าร้านต่างๆในยุโรปได้ในเวลาเพียง 2 เดือน ส่วนในเซอร์เบียหรือโครเอเชียที่เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์นั้น ระยะเวลาการผลิตทั้งสิ้นก็ใช้เพียงหนึ่งเดือนเศษเท่านั้น

นอกจากนี้ ราคาค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์หนึ่งตู้ที่ใช้ขนส่งสินค้า ปกติแล้วราคาจะอยู่ที่ประมาณ 45,000-50,000 บาท แต่ว่าตอนนี้ราคาได้พุ่งขึ้นราว 400,0000-500,000 บาท แต่ที่หนักไปกว่า คุณแมสซิโมบอกว่าคือเรื่องที่วันที่สินค้าจะมาส่งนั้นก็ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ราคาก้าวกระโดดถึง 10 เท่านั้นเกิดจากเรือขนส่งที่ไม่เพียงพอเนื่องจากการระบาดของโควิด

ปัญหาด้านการขนส่งนั้นยังกระทบแบรนด์เสื้อผ้าหลายยี่ห้อ เช่น Hugo Boss, Lululemon, Gap และ Kohl’s โดย Hugo Boss ประกาศว่าจะย้ายฐานการผลิตไปใกล้กลับประเทศต้นกำเนิดของแบรนด์มากขึ้นซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า nearshoring เพื่อตัดปัญหาการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานโลก

ส่วนแบรนด์อื่นๆข้างต้นกล่าวว่าจะหันไปขนส่งของทางอากาศที่มีราคาสูงกว่าแทนการขนส่งทางเรือ ทั้งนี้ เพื่อจะลดปัญหาเรื่องของหมดสต็อกในช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปีที่กำลังจะเข้ามา

ปัญหาโรงงานปิดและแรงงานที่แพงขึ้น

นอกจากนี้ ในบางประเทศที่มีการปิดโรงงานการผลิตลงอย่างเช่น เวียดนามยังได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่เช่น Nike และบริษัทอื่นๆอีกด้วย ในกรณี Nike นั้น ใช้เวียดนามเป็นฐานผลิตรองเท้ากีฬาราว 50 เปอร์เซ็นต์ของรองเท้าทั้งหมด

บริษัทได้ประกาศถึงความเป็นไปได้ที่ยอดขายจะลดลงเนื่องจากปัญหาดังกล่าวไปและยังเตือนผู้บริโภคถึงความล่าช้าจากการส่งสินค้าในช่วงเทศกาลอีกด้วย

China XInjiang Foreign Brands

China XInjiang Foreign Brands

ทางด้าน Lululemon และ Gap ที่ต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกันกับ Nike ก็หันไปพึ่งการส่งของทางอากาศเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาของขาดสต็อก Lululemon ก็ได้ประกาศว่าจะย้ายฐานการผลิตออกจากเวียดนามเช่นกัน

ปิดท้ายด้วยปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่อาจทำให้เอเชียไม่เป็นฐานการผลิตที่น่าดึงดูดอีกต่อไปด้วยปัญค่าแรงที่สูงขึ้น

ในระยะเวลาสี่ปีก่อนการระบาดของโควิด ค่าแรงงานโลกเพิ่มระหว่าง 1.6-2.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ในแถบเอเชียแปซิฟิกและยุโรปฝั่งตะวันออกนั้นมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงกว่าในยุโรปส่วนอื่นและอเมริกาเหนือ ดังนั้น ค่าแรงในการผลิตในฝั่งเอเชียที่เคยมีราคาถูกจึงอาจไม่เป็นองค์ประกอบที่น่าใจสำหรับบริษัทต่างๆ เหมือนเมื่อช่วงหลายสิบปีก่อนอีกต่อไป

(ที่มา: รอยเตอร์)



ลิงค์ที่มา

© 2018-2025 Thailand Net24 News