บริษัทโทรคมนาคมของรัฐบาลจีนถูกถอนสิทธิ์ให้บริการในตลาดสหรัฐฯ


คณะกรรมการด้านการสื่อสารของสหรัฐฯ (U.S. Federal Communications Commission – FCC) อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงในการประกาศถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ ของ บริษัท ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ

ภายใต้การตัดสินใจที่มีออกมาในวันอังคารของ FCC ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลกิจการโทรศัพท์ ระบบสื่อสารแบบไร้สาย และการสื่อสารผ่านระบบวิดีโอ ในสหรัฐฯ บริษัท ไชน่า เทเลคอม อเมริกาส์ (China Telecom Americas) จะต้องยุติการให้บริการทั้งหมดในตลาดสหรัฐฯ ภายใน 60 วัน ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดการทำธุรกิจที่ดำเนินมานานถึง 20 ปีในประเทศนี้

ทั้งนี้ FCC กล่าวว่า การที่บริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน ทำให้เกิด “ความเสี่ยงด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงของชาติอย่างมีนัยสำคัญ” เพราะการเปิดโอกาสให้บริษัทแห่งนี้ “เข้าถึง จัดเก็บ ทำการรบกวน และ/หรือปรับเปลี่ยนช่องทางสื่อสารของสหรัฐฯ ให้เกิดความผิดพลาด ล้วนเป็นการเปิดทางให้เกิดการจารกรรมข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่เป็นภัยต่อสหรัฐฯ ได้ทั้งสิ้น”

โฆษกของ ไชน่า เทเลคอม ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน กล่าวว่า การตัดสินใจของ FCC นั้น “น่าผิดหวัง” และกล่าวเสริมด้วยว่า ทางบริษัทเองมีแผน “ที่จะหาทางออกด้วยช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ พร้อมๆ กับเดินหน้าให้บริการกับลูกค้าของเราต่อไป”

คำประกาศของ FCC แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจำกัดความสามารถและโอกาสของบริษัทโทรคมนาคมสัญชาติจีนทั้งหลาย ไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

เมื่อปีที่แล้ว FCC ประกาศว่า บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) และ บริษัท ซีทีอี (ZTE) เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และสั่งห้ามไม่ให้ทั้งคู่เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของสหรัฐฯ ด้วยสาเหตุความกังวลว่า จะมีการใช้เครือข่าย 5จี เพื่อสอดแนมชาวอเมริกัน

นอกจากนั้น บริษัท ไชน่า เทเลคอม และบริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอีกสองแห่ง ได้แก่ ไชน่า โมบายล์ (China Mobile) และ ไชน่า ยูนิคอม (China Unicom) ยังถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ เมื่อต้นปีนี้เอง หลังจากรัฐบาลชุดของอดีตปธน.ทรัมป์ ออกคำสั่งห้ามชาวอเมริกันไม่ให้ลงทุนในบริษัทเหล่านี้

(ข้อมูลบางส่วนมาจาก สำนักข่าว เอพี – รอยเตอร์ – เอเอฟพี)



ลิงค์ที่มา