ทูน่าที่ไม่ใช่ทูน่า! ‘ซับเวย์’ เจอฟ้องร้องฐานพบดีเอ็นเอหมู-ไก่-เนื้อ ในเมนูแซนด์วิชทูน่า


บริษัทแฟรนไชส์แซนวิชซับชื่อดัง ซับเวย์ (Subway) เจอคดีฟ้องร้องใหม่ ฐานหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับเมนูทูน่าของทางร้าน เมื่อผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์กับเมนูดังกล่าว พบว่า ไม่ได้เป็นเนื้อทูน่า 100% อย่างที่โฆษณา แต่กลับพบดีเอ็นเอเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว อยู่ในนั้นด้วย ตามรายงานของรอยเตอร์

แคเรน ดาห์โนวา และนิลิมา อามิน ยื่นฟ้องซับเวย์ต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในซานฟรานซิสโก เป็นครั้งที่ 3 กรณีพบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ปนเปื้อนอยู่ในเมนูทูน่าของซับเวย์ แต่ทางซับเวย์ ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ระบุว่า ต้องการให้ยกฟ้องคดีที่ “ขาดการไตร่ตรองและไม่เหมาะสม” และอ้างว่าคำฟ้องนี้ไม่มีมูล โดยระบุว่าปลาทูน่าของซับเวย์มีคุณภาพสูง เป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติ 100% รวมทั้งได้รับการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

ทั้งนี้ คดีทูน่าไม่ 100% นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผู้บริโภคกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ทูน่าของซับเวย์สูญเสียความเป็นทูน่าไป และว่าเนื้อปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna) และปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna) ของซับเวย์ไม่ได้มาจากการประมงอย่างยั่งยืน แต่ศาลได้ยกฟ้องไปถึง 2 ครั้ง โดยระบุว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องการสร้างความเข้าใจผิดของซับเวย์ และตั้งแต่นั้น ซับเวย์ ได้ออกโฆษณาทางโทรทัศน์และเผยแพร่เนื้อหาปกป้องเมนูทูน่าของแบรนด์ทางเว็บไซต์มาโดยตลอด

แต่ในการยื่นฟ้องครั้งที่ 3 ฝ่ายโจทก์ยื่นผลการทดสอบจากนักชีววิทยาทางทะเล ที่ตรวจสอบตัวอย่างเนื้อทูน่า 20 ตัวอย่าง ที่ซื้อมาจากร้านซับเวย์ 20 แห่งทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และพบว่า 19 จาก 20 ตัวอย่างนี้ ไม่พบร่องรอยดีเอ็นเอปลาทูน่า แต่กลับพบดีเอ็นเอของไก่ทั้งหมด 20 ตัวอย่าง ดีเอ็นเอเนื้อหมู 11 ตัวอย่าง และดีเอ็นเอของเนื้อวัว 7 ตัวอย่างจากที่ตรวจสอบ และผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ซับเวย์ ระบุเมนูทูน่าของทางร้านอย่างไม่ถูกต้อง และหลอกลวงผู้บริโภคให้จ่ายเงินเพิ่มเติม

อามิน หนึ่งในผู้ยื่นฟ้องซับเวย์ ระบุว่า เธอสั่งเมนูทูน่าจากซับเวย์มากกว่า 100 ครั้ง ในช่วงปี 2013-2019 และพยายามตรวจสอบเมนูทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าเธอรับประทานเพียงแค่เนื้อทูน่าจริงๆ และอามินเป็นหนึ่งในผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์บางชนิด ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและเหตุผลด้านศาสนา ขณะที่คดีนี้เป็นคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่ระบุรายละเอียด สำหรับการฉ้อโกงและการละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐแคลิฟอร์เนีย

(ที่มา: รอยเตอร์)



ลิงค์ที่มา