WTO เปรียบเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้นเหมือนดาบสองคม


Business News





please wait



Embed









No media source currently available






0:00

0:06:22












0:00






















องค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization (WTO) กล่าวในรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานะการค้าของโลกว่า เศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นนั้นเปรียบเสมือน “ดาบสองคม”

ในด้านหนึ่ง โลภาภิวัตน์ หรือโลกที่เชื่อมโยงกันในด้านต่าง ๆ ทำให้แต่ละประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ขณะเดียวกัน โลกาภิวัตน์ก็ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าในอดีต

ผู้อำนวยการขององค์การการค้าโลก ดร. โงซี โอคอนโจ-อิเวียลา กล่าวว่าการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความท้าทายและประโยชน์ของความเชื่อมโยงของนานาประเทศทั่วโลก

เธอเขียนในรายงานว่า ความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งของการเดินทาง การค้า และการไหลเวียนทางการเงินในยุคปัจจุบัน ได้ทำให้โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างกระทันหันแพร่กระจายไปทั่วโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ที่การระบาดของโรคใช้เวลาหลายเดือน หรือหลายปี ก่อนที่จะลุกลามไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่าโลกาภิวัตน์เองก็คือกุญแจที่ทำให้ประชาคมโลกสามารถมีไวรัสมาใช้ต่อสู้กับโควิด-19 ภายในเวลาอันรวดเร็วเป็นประวัติศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งปันความคิดและเทคโนโลยีข้ามพรมแดน และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการศึกษาวิจัย

ในสหรัฐฯ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอย่าง สก็อต ลินซิโคม แห่งสถาบัน Cato Institute เห็นด้วยกับรายงานวิเคราะห์ขององค์การการค้าโลก โดยยกตัวอย่างว่า บริษัทอเมริกันที่มุ่งทำธุรกิจในประเทศไม่ได้มีผลประกอบการที่ดีกว่าบริษัทที่ประกอบธุรกิจทั่วโลก เขายังบอกด้วยว่า การขาดแคลนสินค้าในสหรัฐฯ และราคาสินค้าที่สูงขึ้นนั้น เกิดกับสินค้าที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น รถปิ๊กอัพ และอาหาร โดยรถปิ๊กอัพนั้นขาดแคลนมากกว่ารถเก๋งสี่ประตู ที่สหรัฐฯ นำเข้ามามากกว่า

นอกจากนี้ รายงานของ WTO ยังพบว่าประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่หลากหลายกับประเทศอื่น ๆ นั้น เผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่า

การค้านั้นทำให้แต่ละประเทศสามารถหาแหล่งสินค้าและความต้องการสินค้าที่หลากหลาย จึงทำให้ประเทศนั้น ๆ ลดความเสี่ยงที่จะเจอกับแรงช็อคหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดเฉพาะเจาะจงกับประเทศใดประเทศหนึ่ง

A worker controls iron at the Thyssenkrupp steel factory in Duisburg, Germany, April 27, 2018.

A worker controls iron at the Thyssenkrupp steel factory in Duisburg, Germany, April 27, 2018.

การย้ายฐานการผลิตกลับบ้าน หรือ Reshoring อาจจะไม่ช่วย

องค์การการค้าโลกยังเตือนว่าไม่ควรย้ายฐานการผลิตกลับบ้าน หรือที่เรียกว่า reshoring ซึ่งเป็นความพยายามของบางประเทศที่ต้องการพึ่งพาตัวเองในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ.

โดยในระยะแรก ๆ ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ได้เกิดการเรียกร้องให้มีการลดการพึ่งพาผู้ผลิตต่างชาติสำหรับสินค้าที่สำคัญ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และส่วนประกอบในการผลิตวัคซีน

ในอีกตัวอย่างหนึ่ง อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกเก็บภาษีจากเหล็กที่ผลิตจากต่างประเทศ เพื่อบังคับให้สหรัฐฯ หันมาผลิตเหล็กอีกครั้ง โดยบอกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศที่สหรัฐฯ จะต้องพึ่งตัวเอง อย่างไรก็ตามความพยายามของอดีต ปธน.ทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด

รายงานกล่าวว่า การจำกัดการค้าและการส่งเสริมให้พึ่งพาประเทศของตัวเองแทบจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ มีประสิทธิผลน้อยลงในระยะยาว นโยบายดังกล่าวยังทำให้ราคาของสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น และจำกัดการเข้าถึงสินค้า ชิ้นส่วน และเทคโนโลยีอีกด้วย

นอกจากนี้ รายงานประจำปีฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยกว่า หลังจากที่การค้าโลกตกลงอย่างฮวบฮาบในเดือนแรก ๆ ที่มีการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันได้ฟื้นขึ้นมาในระดับก่อนการเกิดการระบาดแล้ว ภายในกลางปีหน้า คาดว่าปริมาณการค้าจะสามารถฟื้นตัวมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนการเกิดการระบาด





ลิงค์ที่มา