กฎหมายเเรงงานโปรตุเกส ดูเหมือน “สวรรค์ของลูกจ้าง” แต่บังคับใช้ยาก

โปรตุเกสได้รับความสนใจจากผู้ศึกษากฎหมายเเรงงานจากทั่วโลก หลังรัฐบาลออกกฎหมายที่ห้ามเจ้านายติดต่อพนักงานนอกเวลางาน และคุ้มครองสิทธิ์ต่างๆ ของลูกจ้างตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

แต่สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นักวิเคราะห์หลายคนชี้ถึงปัญหาต่างๆ ด้านการบังคับใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่จากรัฐบาลโปรตุเกสที่ห้ามไม่ให้เจ้านายติดต่อหรืออีเมลพนักงานนอกเวลางาน พร้อมให้บริษัทช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้านที่สูงขึ้นของพนักงานจากการทำงานแบบออนไลน์ (work from home) เพื่อปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

โฮเซ่ เปโตร นักกฎหมายแรงงานของ PLMJ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทกฎหมายยักษ์ใหญ่ในโปรตุเกสบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า “กฎหมายถูกเขียนขึ้นมาได้แย่มาก มันไม่ตอบสนองกับความต้องการของใครเลยและไม่มีเหตุผลเลย” นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ที่มีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยและปัญหามากมาย อาจทำบริษัทต่อต้านการอนุญาตพนักงานทำงานจากบ้านไปเลยก็เป็นไปได้

สำนักข่าวเอพีระบุต่อว่า การระบาดของโควิดทำให้หลายๆ ประเทศ รวมทั้งโปรตุเกสหันมา สนับสนุนให้ประชากรทำงานจากบ้านแทน และแม้ในบางประเทศ เช่น เยอรมัน อิตาลี และสเปน จะให้สิทธิในการพักผ่อนและให้พนักงานมีเวลาเป็นของตัวเองโดยไม่ถูกเรียกตามเรื่องงาน แต่การพัฒนากฎหมายเหล่านี้ให้ครอบคลุมยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นอยู่

People watch the sun set from a viewpoint overlooking the Tagus river in Lisbon (Elizeu Diaz, Unsplas)

โปรตุเกสจึงมุ่งเป้าไปที่บริษัทให้รับภาระหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงาน โดยในกฎหมายได้ระบุว่า “เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะงดติดต่อลูกจ้างนอกเวลางาน ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น” และพนักงานที่มีบุตรอายุไม่เกิน 8 ปี สามารถเลือกที่จะทำงานจากบ้านได้ หากบริษัทฝ่าฝืนกฎข้างต้น จะถูกปรับ 1 หมื่นยูโร หรือประมาณ 381,000 บาทต่อการทำผิดหนึ่งกรณี

หากมองในภาพรวม รัฐบาลโปรตุเกสออกกฎหมายฉบับขึ้นมาเพื่อยับย้องการคุกคามจากบริษัทเวลาพนักงานทำงานที่บ้าน เช่น การลากเวลางานออกไปให้ยาวกว่าเวลางานปกติในออฟฟิส ซึ่งทำให้พนักงงานไม่มีเวลาส่วนตัวและรู้สึกโดดเดี่ยวได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่การลงรายละเอียดที่ชัดเจน ใครบ้างไม่สามารถติดต่อพนักงงานได้หรือแค่เฉพาะเจ้านายของพนักงงานรายนั้นคนเดียว? กฎนี้รวมซีอีโอของบริษัทด้วยหรือไม่? และความหมายคำว่า “ติดต่อ”ในกฎหมายนี้ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง? การพูดคุยโทรศัพท์? การส่องข้อความ? หรือการส่งอีเมลด้วย?

Portuguese Business Confederation ซึ่งเป็นสมาคมบริษัทที่มีเครือต่างๆมากที่สุดในประเทศ บอกว่า ไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลในการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเลย ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง

หลุยส์ เฮนริเกส์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของสมาคมดังกล่าวอธิบายว่า กฎหมายนี้ไม่สามารถใช้ได้กับทุกกรณี เพราะไม่มีสถานการณ์การทำงานในบริษัทหรือในภาคธุรกิจใดที่เหมือนกัน ส่วน จอน แมสเซนเจอร์แห่ง International Labor Organization ขององค์กรสหประชาชาติบอกด้วยว่า ปัญหาที่ร้ายกาจที่สุดอยู่ที่รายละเอียดของกฎหมายและการนำไปปฏิบัติ

ผู้คนจำนวนมากก็ยังรู้สึกเคลือบแคลงใจกับกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน รวมทั้ง แอนเดรียอา แซมเพียโอ พนักงานด้านการสื่อสารที่กรุงลิสบอนซึ่งเป็นเมืองหลวงของโปรตุเกส บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า เธอเข้าใจถึงจุดประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ แต่มันกว้างเกินไปและการบังคับใช้น่าจะเป็นเรื่องยาก

waving flag
The European Union flag flies outside Europe House the Delegation

แอนเดรียอาเชื่อว่ารัฐบาลจะดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทหากได้รับแจ้งว่าฝ่าฝืนกฎข้างต้น แต่พนักงานบางส่วนอาจจะกลัวว่าจะถูกให้ออกจากงานหากแจ้งรัฐบาลว่าบริษัทไม่ปฏิบัติตามกฎ เธอเสริมว่า เธอไม่รู้สึกมีปัญหาหากที่ทำงานจะติดต่อเธอนอกเวลาทำงาน โดยให้เหตุผลว่า คนเราทุกคนมีความสามารถในการใช้ความคิดเบื้องต้น (common sense) ว่าแต่ละการติดต่อแต่ละครั้งสมควรหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่ากฎหมายข้างต้นซึ่งถูกร่างโดยพรรค Socialist Party ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้ายและปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2015 เป็นการแสดงจุดยืนในแนวคิดแบบก้าวหน้า ก่อนการเลือกตั้งที่มาถึงในวันที่ 30 มกราคมปีหน้า

(ที่มา: สำนักข่าวเอพี)

ลิงค์ที่มา