เศรษฐกิจอินเดียเริ่มฟื้นตัว แม้แรงกดดันจากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่จางหาย






please wait



Embed









No media source currently available






0:00

0:05:45












0:00






















อินเดียรายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ๆ ทั้งหลาย แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลว่า การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวนี้สะดุดลงได้

รายงานของรัฐบาลอินเดียระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ของประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของปีนี้ ขยายตัว 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณแห่งความหวังของการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียตกอยู่ในภาวะถดถอยหนักที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษเมื่อปีที่แล้ว ด้วยอัตราการขยายตัวของจีดีพีติดลบ 7.3% หลังรัฐบาลสั่งดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด

สถานการณ์ของอินเดียเริ่มพลิกกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่กลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่ง เค.วี. สรรพรหมาเนียน หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ ของกระทรวงการคลังอินเดียระบุว่า ข้อมูลต่างๆ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รายได้และกำไรนิติบุคคลของประเทศกลับมาอยู่ระดับเดียวกับช่วงเกิดวิกฤตการระบาดแล้ว

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียในปีนี้ที่ 9.5% ซึ่งหากทุกอย่างออกมาตามที่ว่านี้ อินเดียจะเป็นประเทศที่ขยายตัวมากที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก และสูงกว่าจีนที่มีการประเมินว่าจะโตที่ระดับ 8% ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า การกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลง รวมทั้งความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีน คือ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินเดีย

หลังจากที่ทางการอินเดียยกเลิกมาตรการจำกัดต่างๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงมาที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่ง และยังลดต่ำมาจนถึงระดับไม่ถึง 10,000 รายต่อวันเมื่อเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจของอินเดียยังแสดงให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดอยู่ และบางแห่งยอมรับว่า เพิ่งเริ่มฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมกัน โดยธุรกิจที่มีโครงสร้างเป็นปึกแผ่นดีเริ่มปรับตัวได้แล้ว แต่ส่วนที่เป็นรายย่อยกลับยังย่ำแย่อยู่

นอกจากนั้น ความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อไวรัส โอมิครอน ยังทำให้ผู้คนกังวลว่า จะทำให้รัฐสั่งปิดสถานที่ทำงานและโรงเรียนออกไปอีก แม้ว่าในเวลานี้ ทางการจะยืนยันว่า ยังไม่มีแผนการใดๆ นอกจากการจำกัดการเดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้นก็ตาม





ลิงค์ที่มา