ชาวจังหวัด สุพรรณฯ คึกคัก “หนูนา บิ๊กท็อป”นำ ส.ส. ชทพ.ต้อนรับ “บิ๊กตู่” เยือนถิ่นบรรหาร มอบเงินประกันรายได้ช่วยเหลือเกษตรกร “ประภัตร” เอาใจนำชาวบ้านสวมเสื้อเรารักลุงตู่ ต้อนรับ
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 9 ธ.ค. ที่พล. ม.2 รอ.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และคณะ ออกเดินทางจากสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ.ไปยังจุดจอด ฮ.สนามเฮลิคอปเตอร์สุพรรณบุรี ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จากนั้นเวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรี เดินทางต่อมายัง ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรสุพรรณบุรี ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อเป็นประธานพิธีส่งมอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 ให้กับกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศและเป็นประธานในพิธีมอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 ให้กับผู้แทนเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 7 ราย และผู้แทนสหกรณ์การเกษตร จำนวน 2 ราย โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ร่วมคณะ โดยลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีใช้รถอัลพาร์ด ทะเบียน ษท 6888 กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ชทพ. ประธานกรรมการนโยบายยุทธศาสตร์พรรค ชทพ. นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค ชทพ. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อม ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นำโดย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค นายนพดล มาตรศรี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายสรชัด สุจิตต์ ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 1 นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 2 นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 4 และนายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมต้อนรับอย่างคึกคัก
อย่างไรก็ตาม ในการต้อนรับนายประภัตร รวมทั้งเกษตรกรที่มาร่วมงานส่วนหนึ่ง พร้อมใจสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวและสีชมพู ด้านหน้าสกรีนรูป พล.อ.ประยุทธ์ ชูกำปั้น พร้อมสกรีนคำว่า “เรารัก…ลุงตู่” ส่วนด้านหลังเสื้อสกรีนคำว่า “เราไม่เคยลืมกัน” ต้อนรับอย่างอบอุ่น
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 จะประกันราคาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงตามข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านการประชุมของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ งวดที่ 3 – 7 ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านครัวเรือน เป็นเงินจำนวนกว่า 64,000 ล้านบาท สำหรับในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 51,203 ครัวเรือน วงเงิน 1,064 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับราคาข้าวเปลือก ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งเป้าดูดซับปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ประกอบด้วย ชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 และข้าวเปลือกเหนียวอีกด้วย
#พรรคชาติไทยพัฒนา #วราวุธ #จังหวัดสุพรรณบุรี #กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ #เกษตร