Yuam River

เมื่อเดือนกันยายน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของไทยให้ความเห็นชอบกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการผันน้ำในแม่น้ำยวมที่บริษัทของจีนเสนอตัวจะสร้าง โดยมีค่าใช้จ่ายราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการเดิมซึ่งประมาณไว้ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะทำสำเร็จได้ภายในสี่ปีแทนที่จะใช้เวลาเจ็ดปี

นักวิชาการมองว่าเป็นความพยายามของจีนที่จะเข้ามามีบทบาทตามแผนงาน Belt and Road Initiative ในประเทศไทย แต่กลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมเห็นว่าโครงการดังกล่าวยังไม่เหมาะสมและถูกผลักดันด้วยเหตุผลทางการเมือง

รายงานเรื่องความสนใจของบริษัทจีนเพื่อสร้างโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมในไทยมาจากนายวีระกร คำประกอบ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ผู้ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอซึ่งยืนยันว่า บริษัท Norinco International รัฐวิสาหกิจของจีนที่ทำธุรกิจด้านวิศวกรรมก่อสร้างและเป็นบริษัทลูกของ Norinco Group บริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของจีนที่มีธุรกิจอยู่ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เสนอจะทำโครงการดังกล่าวโดยเป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุนทั้งหมดคือราว 1,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าโครงการที่ประมาณไว้เดิมที่ 2,100 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถทำให้เสร็จสิ้นได้ภายใน 4 ปีแทนที่จะเป็น 7 ปี

โดยได้นำเรื่องนี้เสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็ได้ให้ความสนใจเนื่องจากไทยไม่มีเงินพอที่จะลงทุนในโครงการได้เอง

โครงการที่ว่านี้เสนอจะวางอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 8 เมตร และมีความยาว 61 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างแม่น้ำยวมไปยังเขื่อนภูมิพล รวมทั้งยังจะสร้างอ่างเก็บน้ำพร้อมเขื่อนใหม่บนแม่น้ำยวมด้วย

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้บอกปัดรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้วสองครั้งด้วยกัน โดยครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี 2019 แต่มาในครั้งนี้นายวีระกร คำประกอบ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอให้กรมชลประทานพิจารณาข้อเสนอล่าสุด

แต่ขณะนี้วีโอเอยังไม่ได้รับคำตอบหรือความเห็นใด ๆ ทั้งจากกรมชลประทาน จากโฆษกรัฐบาล หรือจากบริษัท Norinco International

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ. ดร. พงศ์พิสุทธิ์บุษบารัตน์ จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนให้ความเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวดูจะเป็นความพยายามล่าสุดของจีนที่จะขยายบทบาทและโครงการเกี่ยวกับแผนงาน Belt and Road Initiative ในประเทศไทย ซึ่งจีนต้องการเข้ามามีอิทธิพลและความเกี่ยวข้องกับโครงการด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ ของเอเชียมากขึ้นอยู่แล้ว

โดยอาจารย์พงศ์พิสุทธิ์เห็นว่า การที่รัฐบาลไทยเปลี่ยนท่าทีมายอมรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมที่ว่านี้อาจแสดงว่า รัฐบาลไทยเริ่มเปลี่ยนการมองแผนงาน Belt and Road Initiative ของจีน และจะเปิดโอกาสให้จีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นได้ต่อไป

ส่วนนายเมอเรย์ ไฮเบิร์ต นักวิจัยอาวุโสของ Center for Strategic and International Studies ของสหรัฐฯ ก็ชี้ว่า เท่าที่ผ่านมาข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างล่าช้าจากการต่อต้านคัดค้านของกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมและข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โครงการที่ว่านี้อาจดูเหมือนจะมีความคืบหน้า แต่ปัญหาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันก็อาจทำให้การเริ่มโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมหากสามารถเดินหน้าได้จริงต้องล่าช้าออกไปกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนั้นได้คัดค้านโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ต่อพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่การเกษตรและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วย

โดยคุณเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์และสื่อสารของหน่วยงาน International Rivers ชี้ว่า การประเมินผลกระทบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของไทยนั้นมีข้อผิดพลาดอยู่มาก และได้นำเสนอข้อมูลบางชิ้นอย่างผิด ๆ ด้วย

และถึงแม้นายวีระกร คำประกอบ จากพรรคพลังประชารัฐ จะยืนยันหลายครั้งว่าจะมีการเปิดประมูลโครงการเพื่อรับการแข่งขันจากนานาประเทศและข้อเสนอที่ดีที่สุดจะได้รับการพิจารณาก็ตาม แต่คุณเพียรพร ดีเทศน์ ก็เชื่อว่า การช่วยล็อบบี้โดยนักการเมืองของไทยให้กับบริษัท Norinco มีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องนี้

คุณเพียรพร​ กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องการเมือง เพราะหากมีการพิจารณาโครงการนี้อย่างถี่ถ้วนแบบรับผิดชอบและโปร่งใสแล้ว โครงการที่ว่านี้ก็ไม่น่าจะผ่านการพิจารณาอนุมัติ


ที่มาของข้อความ: VOAThai

เครดิตภาพ: Ernie & Katy Newton Lawley from Bowie, MD, USA, CC BY 2.0 via Wikimedia Commons