‘วิกฤติขนส่งทางเรือ – โควิด’ ทำห่วงโซ่ซัพพลายโลกวุ่นหนัก!


ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในอเมริกาและยุโรป ประกอบกับความติดขัดด้านการขนส่งสินค้าตามท่าเรือในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 กำลังสร้างปัญหามากมายให้กับตลาดการขนส่งสินค้าทั่วโลก และอาจส่งผลให้ราคาสินค้าบางอย่างเพิ่มขึ้นด้วย

เวลานี้ ห่วงโซ่ซัพพลายทั่วโลกกำลังประสบปัญหาติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากความล่าช้าที่ท่าเรือและศูนย์กระจายสินค้าต่าง ๆ ส่งผลกระทบมากมายตั้งแต่ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบหลายอย่าง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ร้านฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ในอังกฤษต้องถอดเมนูนมปั่นและเครื่องดื่มบางอย่างออกไปชั่วคราวเพราะไม่มีวัตถุดิบ ขณะที่ร้านขายไก่ย่าง นันโดส์ (Nando’s) ก็ต้องปิดสาขาชั่วคราวราว 50 แห่ง

ในสหรัฐฯ ท่าเรือหลายแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนียมีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่หลายสิบลำรอขนถ่ายสินค้า ขณะที่ศูนย์ขนส่งสินค้าทางบกก็มีตู้คอนเทอเนอร์จำนวนมากมายรอการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง ส่วนท่าเรือในประเทศอื่น ๆ ทางยุโรปและเอเชียก็กำลังเผชิญปัญหาลักษณะเดียวกัน

รายงานของสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) และ Economist Intelligence Unit ชี้ว่า ปัญหาความติดขัดด้านห่วงโซ่ซัพพลายนี้เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายได้เร็ว ๆ นี้

รายงานระบุว่า “กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่ซัพพลายโลก ซึ่งเป็นผลมาจากภูมิศาสตร์การเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้วิกฤตินี้รุนแรงขึ้น” และว่า “การระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชียต้องหยุดชะงัก จะยิ่งส่งผลกระทบต่อตลาดซัพพลายโลกอีกเร็ว ๆ นี้”

ปัจจัยด้านความต้องการของผู้บริโภค

ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤติด้านการขนส่งครั้งนี้ กล่าวคือในช่วงที่เร่ิมเกิดการระบาดของโควิด-19 ใหม่ ๆ ปริมาณการขนส่งสินค้าทั่วโลกลดลงมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานผู้คนเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ใช้สำหรับการทำงานจากบ้าน อาหาร และสินค้าจำเป็นอื่น ๆ แทนการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและสันทนาการที่ลดลง

สตีฟ แซ็กซอน แห่ง McKinsey & Company กล่าวว่า “กลางปีที่แล้ว ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็ว เรือขนส่งสินค้าต่าง ๆ เริ่มออกเดินทางอีกครั้งในระดับ 97% – 98%”

แต่ในสหรัฐฯ และอังกฤษ กลับเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา คือศักยภาพในการขนส่งสินค้าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกซึ่งทำให้เกิด “ปัญหาคอขวด” ตามท่าเรือและศูนย์ขนส่งสินค้าทางบกต่าง ๆ ในทั้งสองประเทศนี้ และเกิดความติดขัดเป็นทอด ๆ ในระดับต่าง ๆ ของห่วงโซ่ซัพพลาย ตั้งแต่โกดังสินค้าไปจนถึงท่าเรือทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน ท่าเรือขนาดใหญ่หลายแห่งในอเมริกาและจีน ต้องปิดบริการชั่วคราวเนื่องจากพบว่ามีพนักงานหลายคนติดเชื้อโคโรนาไวรัส ตัวอย่างเช่น ในเดือนนี้ รัฐบาลจีนต้องสั่งปิดท่าเรือหนิงโป-โจวชาน ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของจีน เป็นเวลาสองสัปดาห์หลังจากพบว่ามีการระบาดของโควิด-19 ในหมู่พนักงาน

ยังไม่รวมถึงเหตุการณ์ที่เรือสินค้าลำหนึ่งปิดคลองสุเอซในอิยิปต์เมื่อเดือนมีนาคมเป็นเวลา 6 วัน ทำให้เรือหลายลำไม่สามารถเดินทางผ่านช่องแคบสำคัญนี้ได้

ต้นทุนการขนส่งสินค้าพุ่งสูงขึ้นธุรกิจพากันเจ็บตัว

ผลกระทบที่เห็นชัดจากวิกฤติด้านห่วงโซ่ซัพพลายโลก คือต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น

บริษัทเก็บข้อมูลด้านต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ เซนาตา (Xenata) ระบุว่า หนึ่งปีก่อน ค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 40 ฟุต 1 ตู้จากเอเชียตะวันออกไปยังยุโรป ตกราคาไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์ แต่ในสัปดาห์นี้ ต้นทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 13,600 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย เช่นเดียวกับเส้นทางการขนส่งอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว

Toy Association ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าของบริษัทที่ผลิตและขายสินค้าเกี่ยวกับของเล่นเด็ก ระบุกับวีโอเอว่า ปัญหาในห่วงโซ่ซัพพลายโลกส่งผลต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ ถ้วนหน้า เช่น บริษัทของเล่นเด็กต้องมีต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นราว 300 – 700% หากสามารถหาคอนเทนเนอร์และที่ว่างบนเรือสินค้าได้

กลุ่มดังกล่าวบอกด้วยว่า ในขณะที่เทศกาลให้ของขวัญและวันหยุดปลายปีในสหรัฐฯ กำลังใกล้เข้ามา ผู้บริโภคอาจต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนสินค้า หรือราคาสินค้าประเภทของเล่นที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้

จอห์น เดรค แห่งหอการค้าสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากในอเมริกากำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนสินค้าหรือวัตถุดิบเนื่องจากปัญหาที่ห่วงโซ่ซัพพลายโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งขาดแคลนคนทำงาน คนขับรถบรรทุก ท่าเรือและโกดังปิดบริการ และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะไม่หายไปในเร็ววันนี้ แต่คาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย



ลิงค์ที่มา