ไมโครซอฟท์ เผย รัฐบาลสหรัฐฯ ขอดูข้อมูลผู้ใช้งานหลายพันรายในแต่ละปี

บริษัท ไมโครซอฟท์ เปิดเผยว่า หน่วยงานด้านรักษากฎหมายของสหรัฐฯ ยื่นเรื่องขอดูข้อมูลผู้ใช้งานของบริษัทเป็นจำนวนหลายพันครั้ง ในแต่ละปี

ทอม เบิร์ต รองประธาน บริษัท ไมโครซอฟท์ ด้านความปลอดภัยลูกค้าผู้ใช้งาน กล่าวระหว่างการเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันพุธว่า หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่รับผิดชอบงานรักษากฎหมายยื่นหนังสือคำสั่งลับเพื่อขอดูข้อมูลของลูกค้าของบริษัทเป็นจำนวน 2,400 ถึง 3,500 ครั้งต่อปี หรือประมาณ 7-10 ต่อวัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน

เบิร์ต ระบุว่า สิ่งที่น่าตกใจที่สุดในเรื่องนี้คือ การยื่นคำสั่งลับเพื่อขอข้อมูลผู้ใช้งานแบบเป็นกิจวัตรประจำนี้พุ่งเป้าไปยังอีเมล์ ข้อความและข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่างๆ ของชาวอเมริกัน ที่เก็บไว้ในระบบเคลาด์

ทั้งนี้ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานรักษากฎหมายของสหรัฐฯ และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลาย กลายมาเป็นเป้าสนใจและการตรวจสอบมากขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการเปิดเผยว่า อัยการกระทรวงยุติธรรมในยุคของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำการขอข้อมูลต่างๆ ที่ไม่ใช่ที่เป็นของผู้สื่อข่าวเท่านั้น แต่ยังมีของสมาชิกสภาคองเกรสและทีมงานด้วย

โมโครซอฟท์ ยอมรับว่า ตนเองได้ส่งมอบข้อมูลต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐ อ้างคำสั่งศาลมาขอ แต่ต้องปิดเงียบไว้เพราะคำสั่งลับที่ห้ามไม่ให้บริษัทเปิดเผยเรื่องนี้ เป็นเวลากว่า 2 ปี จึงจะนำประเด็นดังกล่าวออกมาพูดได้ และหลังจากนั้น แบรด สมิทธิ์ ประธานบริษัท ออกมาเรียกร้องให้ยุติการออกคำสั่งลับปิดปากนี้ โดยแย้งว่า “อัยการมักถือโอกาสใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในการล่วงละเมิดเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน”

ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เมอร์ริค การ์แลนด์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมจะยกเลิกการยึดบันทึกข้อมูลของผู้สื่อข่าว และจะจัดการทุกอย่างให้เป็นระบบอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

ส.ส. เจอร์โรลด์ แนดเลอร์ ประธานคณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนราษฎร ระบุในระหว่างการกล่าวเปิดการรับฟังข้อมูลในวันพุธว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เฝ้าหาประโยชน์จากนโยบายที่ล้าสมัย ซึ่งเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลดิจิทัล โดยพุ่งเป้าไปยังผู้สื่อข่าวและการสืบสวนกรณีข้อมูลรั่วไหล ซึ่งทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปเพื่อป้องกันไม่ให้อัยการรัฐทำการใดๆ ที่เลยเถิดเกินไป

Source: VOA Thai