พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำอย่างไรเพื่อช่วยให้วัยรุ่นปลอดภัยจากสื่อสังคมออนไลน์

ในการแถลงให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Frances Haugen อดีตพนักงานของ Facebook เตือนว่าข้อมูลและปฏิกิริยาทางลบที่เด็กวัยรุ่นได้รับจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น การถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้ Instagram มักติดตามและส่งผลต่อเด็กดังกล่าวในเวลาภายหลัง

รวมทั้งอาจมีอิทธิพลต่อพัฒนาการรวมทั้งการมองโลกมองชีวิตของบุคคลดังกล่าวได้ด้วย และถ้าเป็นเช่นนั้น คำถามก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบและจำกัดการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในความดูแลได้อย่างไร

ในสหรัฐฯ เอง กฎหมาย Children’s Online Privacy Protection เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็กซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2000 กำหนดอายุขั้นต่ำของเด็กที่จะเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 13 ปีและพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องให้ความยินยอมก่อนที่เว็บไซต์หรือบริการออนไลน์ต่างๆ จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับเด็กผู้ใช้ได้

อย่างไรก็ตามก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยซึ่งหลีกเลี่ยงข้อห้ามเรื่องอายุขั้นต่ำนี้และคุณคริสตีน เอลเกอร์มา ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียของหน่วยงานชื่อ Common Sense Media ได้เตือนว่าขณะนี้ไม่มีวิธีหรือกลไกใดๆ ที่จะสามารถใช้เพื่อตรวจยืนยันอายุของผู้ใช้เมื่อเริ่มเปิดบัญชี ดังนั้นเด็กวัยรุ่นจึงสามารถหาทางเปิดบัญชีได้เอง โดยที่ผู้ปกครองหรือเจ้าของแอพนั้นไม่ทราบด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเด็กขณะนี้ไม่ได้มีอยู่เพียงแค่เรื่องความเป็นส่วนตัวเท่านั้น เพราะยังมีปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก การก่อกวนหรือการฉกฉวยประโยชน์ทางเพศออนไลน์ด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองสิ่งที่เราสามารถจะช่วยได้อย่างน้อยที่สุดคือการเปิดช่องทางสื่อสารพูดคุยกับลูกหลานที่อยู่ในความดูแล จำกัดอายุหรือจำกัดเวลาการใช้งาน รวมทั้งคอยเฝ้าติดตามลักษณะการใช้ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

ในแง่ของการสื่อสารนั้น คุณคริสตีน เอลเกอร์มาแนะว่าผู้ปกครองควรพูดคุยกับบุตรหลานของตนตั้งแต่เนิ่นๆ เกี่ยวกับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ที่เด็กเหล่านี้ได้รับและสนทนาอย่างเปิดอกในสิ่งที่เด็กได้รับหรือได้เห็นว่าควรจะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร รวมทั้งไม่ควรกลัวที่จะถามกลับเพื่อรับทราบความเห็นของเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้เห็นด้วย

ในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขเวลาการใช้ พ่อแม่บางคนอาจใช้วิธีขอเก็บโทรศัพท์มือถือของเด็กไว้ในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นเวลาพักผ่อน หรืออาจกำหนดเวลาที่จะยอมให้ใช้โทรศัพท์ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเด็กทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วหรือทำกิจกรรมตามที่ตกลงไว้อย่างสมบูรณ์

แต่ที่สำคัญที่สุด ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าพ่อแม่ควรทำตนให้เป็นตัวอย่างเพราะหลายครั้งที่ผู้ใหญ่ก็ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งการเข้าสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน ดังนั้น ดังนั้นพ่อแม่จึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องบอกให้ลูกๆ เข้าใจว่าเวลาและการใช้โทรศัพท์ของตนนั้นเป็นเพื่ออะไร เช่นการใช้เพื่อดูอีเมลเรื่องงาน การจ่ายค่าบริการต่างๆ หรือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสูตรทำอาหาร เป็นต้น

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเข้าสื่อสังคมออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะอย่างที่คุณโรซานา มาราชิ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย San Jose ได้เตือนว่าสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อย่างเช่น Instagram ล้วนถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ติดเป็นนิสัยและบริษัทหรือธุรกิจเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเยาวชนเสมอไป ดังนั้นจึงตกเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องคอยสอดส่องดูแลและทำตัวอย่างที่ดีให้เห็น เป็นสำคัญ

ที่มา: VOA

© 2018-2025 Thailand Net24 News