บริษัทประกันกังวลเรื่องความเสี่ยงวงโคจรรอบโลกแออัดมากขึ้น


ขยะอวกาศที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นกำลังคุกคามดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้แก่บริษัทรับประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางในอวกาศ

ทั้งนี้ มีการปล่อยดาวเทียมใหม่หลายพันดวงไปยังบริเวณที่มีขยะอวกาศพอกพูนตั้งแต่เริ่มมีการเดินทางสู่อวกาศ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้นำธุรกิจบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าความเสี่ยงของการที่วัตถุอาจชนกันในอวกาศที่เพิ่มมากขึ้นทำให้บริษัทประกันภัยเกิดความกังวลใจ และบริษัทประกันภัยที่รับประกันดาวเทียมที่มีอยู่เพียงไม่กี่บริษัทกำลังถอนตัวหรือออกจากตลาดไป

Richard Parker ผู้ร่วมก่อตั้ง Assure Space อธิบายว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่หนักหนาสำหรับการประกันภัย กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาทางบริษัทหยุดให้ประกันยานอวกาศใน Low Earth Orbit (LEO) หรือวงโคจรระดับต่ำรอบโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดาวเทียมส่วนใหญ่ใช้งานอยู่ และกรมธรรม์ที่มีเหลืออยู่ไม่ครอบคลุมการชนกับขยะอวกาศ

Parker กล่าวกับรอยเตอร์อีกว่าตอนนี้อาจจะเริ่มยากขึ้นที่จะได้รับความคุ้มครองแบบนั้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากบริษัทประกันจำนวนมากตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่ไม่สามารถรับมือได้

ข้อมูลจาก Seradata กลุ่มการตลาดอวกาศระบุว่า มีดาวเทียมอยู่ 8,055 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลก แต่ 42 เปอร์เซ็นต์ของดาวเทียมเหล่านั้นไม่ได้ถูกใช้งาน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ LEO ซึ่งอยู่สูงเหนือพื้นโลกได้ถึง 2,000 กิโลเมตร

ทั้งนี้ จำนวนดาวเทียมที่ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 68 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อห้าปีก่อน โดยกิจกรรมใหม่ๆ ส่วนใหญ่มาจากบริษัท SpaceX ของนักธุรกิจ Elon Musk ที่ขยายเครือข่ายดาวเทียม Starlink ของตน

บริษัทประกันภัยหลายๆ แห่งกล่าวว่าบริษัทใหญ่อื่นๆ เช่น Google, Apple และ Amazon ก็ใช้ดาวเทียมในการส่งข้อมูลเช่นกัน เช่นเดียวกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม หน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำงานด้านการวิจัยอวกาศด้วย

ปัญหาเรื่องการประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งก็คือการที่ไม่มีใครทำความสะอาดขยะในอวกาศ

หน่วยงานของรัฐบาลหลายๆ ประเทศติดตามดูเศษซากขยะหลายพันชิ้น รวมถึงภายใน “วงโคจรสุสาน” ที่ดาวเทียมเก่าๆ ถูกส่งไปตายด้วยเชื้อเพลิงก้อนสุดท้าย

Denis Bousquet เจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันภัยอวกาศ AXA XL กล่าวว่าราวครึ่งหนึ่งของดาวเทียมในอวกาศในปัจจุบันล้วนมีประกันภัย แต่ต่อไปกรมธรรม์ต่างๆ จะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการชนกัน และจะทำให้ดาวเทียมที่จะมีประกันมีจำนวนลดน้อยลง

Charles Wetton จาก บริษัทประกันภัย Global Aerospace กล่าวว่า ขยะอวกาศที่มีจำนวนมหาศาลและจำนวนดาวเทียมที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะชนกันมากขึ้น

Wetton ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ของ “Kessler Effect” ซึ่งตั้งชื่อตาม Don Kessler ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอวกาศของ NASA ผู้พัฒนาแนวคิดนี้เมื่อปีค.ศ. 1978 แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ LEO อาจแออัดจนมีโอกาสที่จะเกิดการชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และว่า แม้จะไม่มีสัญญาณว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แต่ “Kessler Effect” ก็อาจทำให้วงโคจรบางส่วนไม่สามารถได้รับการประกันได้

ส่วน Parker จาก Assure Space กล่าวว่าเขามั่นใจว่าจะมีการชนกันครั้งใหญ่ภายในสามปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้การทำประกันในอนาคตแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม แม้อาจมีบริษัทประกันภัยรายใหม่เข้าสู่ตลาด แต่กว่าจะถึงตอนนั้น ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้กล่าวว่า บริษัทต่างๆ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานในภาครัฐมีแนวโน้มที่จะต้องรับผิดชอบด้านทางการเงินมากขึ้น

(ที่มา: Reuters)



ลิงค์ที่มา