ธุรกิจผลิตเครื่องจักรแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ทดลองประดิษฐ์เครื่องผลิตน้ำจากอากาศสำเร็จ และกลายมาเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านหลายแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ แห่กันไปซื้อมาใช้ แม้ว่าสนนราคาจะสูงไม่น้อย ตามรายงานของสำนักข่าว เอพี

เท็ด บาวแมน วิศวกรด้านงานออกแบบ บริษัท Tsunami Products ในรัฐวอชิงตัน คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคิดค้นระบบเปลี่ยนอากาศให้เป็นน้ำ ที่ทำงานคล้ายกับเครื่องปรับอากาศซึ่งใช้คอยล์ทำให้อากาศเย็นลงจนกลายมาเป็นน้ำมากักเก็บไว้ในอ่างเพื่อใช้งานต่อไปได้

บาวแมน กล่าวว่า ภาษิตของบริษัทคือ “น้ำจากอากาศ ไม่ใช่มายากล แต่เป็นวิทยาศาสตร์”

ระบบที่ บาวแมน ช่วยประดิษฐ์ขึ้นมานี้ เป็นหนึ่งในเครื่องจักรหลายชิ้นที่มีผู้พัฒนาขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อสกัดน้ำออกมาจากความชื้นในอากาศ โดยเครื่องอื่นๆ ที่ผลิตออกมาก่อนหน้าใช้ระบบต่างๆ กัน เช่น มุ้งลวด แผงโซลาร์เซลล์ และแม้แต่ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อดึงความชื้นออกมาจากอากาศ

แต่เครื่องที่บริษัทของ บาวแมน ผลิตออกมานั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ในครัวเรือน สำนักงาน ไร่ปศุสัตว์หรือที่ใดก็ได้ โดยการลดความชื้นในอากาศ พร้อมๆ กับการผลิตน้ำที่จะนำไปผ่านระบบกรองเพื่อให้ปลอดภัยสำหรับการบริโภคได้

รายงานข่าวระบุว่า เทคโนโลยีนี้ใช้ได้ผลดีในพื้นที่ที่มีหมอกลง ขณะที่ปริมาณน้ำที่ผลิตได้ในแต่ละวันนั้นมีตั้งแต่ 900 จนถึง 8,600 ลิตร โดยขึ้นอยู่กับขนาดของถัง

บาวแมน กล่าวเสริมว่า เครื่องผลิตน้ำของบริษัท Tsunami Products เหมาะสมอย่างมากสำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ซึ่งรวมถึง บริเวณตามแนวชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของเครื่องผลิตน้ำนี้ต้องทำใจที่จะควักกระเป๋าจ่ายราคาที่เริ่มต้นที่ 30,000 ดอลลาร์ ไปจนถึง 200,000 ดอลลาร์ (ราว 990,000-6,600,000 บาท) เลยทีเดียว

นอกจากราคาที่แพงแล้ว เครื่องผลิตน้ำนี้ยังใช้พลังงานอย่างมากในการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียที่ทางการเฝ้าร้องขอให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ เนื่องจากผลกระทบของภาวะแล้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์และทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งแห้งขอดไป เจ้าของบ้านบางรายยินดีที่จะลงทุนหนักเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการของตนแล้ว

เฮเลน ดาห์ลกี นักวิจัยด้านอุทกวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เดวิส ให้ความเห็นว่า เครื่องผลิตน้ำนี้เหมาะสำหรับบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ไม่ใช่ทางออกสำหรับชาวแคลิฟอร์เนียทั่วๆ ไปที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมย้ำว่า การแก้ไขปัญหานี้ ควรจะมุ่งไปที่การแก้ไขภาวะโลกร้อนเพื่อป้องกันภาวะแล้งในอนาคตมากกว่า

(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)



ลิงค์ที่มา