การประชุม Imperial Springs International Forum ประจำปี 2564 มุ่งเน้นความร่วมมือระดับโลกในยุคหลังโรคระบาด
การประชุม Imperial Springs International Forum ประจำปี 2564 ภายใต้หัวข้อ “ระบบพหุภาคี 2.0: ความร่วมมือระดับโลกในยุคหลังโรคระบาด” (Multilateralism 2.0: Global Cooperation in the Post-Pandemic Era) ได้ปิดฉากลงแล้วอย่างเป็นทางการในเมืองกว่างโจวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยบรรดาแขกผู้ทรงเกียรติกว่า 160 ท่านจากแวดวงการเมือง วิชาการ และธุรกิจในกว่า 30 ประเทศพร้อมใจเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ทั้งผ่านระบบออนไลน์และในสถานที่จริง
บรรดาแขกเหรื่อได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแรงบันดาลใจเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญ 6 ประการอันประกอบด้วย “ระบบพหุภาคีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Multilateralism and Sustainable Development) “การเร่งปฏิรูปและการเปิดกว้างเพื่อส่งเสริมความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่าย” (Advancing Reform and Opening-up, Promoting Win-Win Cooperation) “โลกาภิบาลและทัศนคติของจีน” (Global Governance and China’s Perspective) “เมืองที่มีความครอบคลุม ยั่งยืนและยืดหยุ่นภายใต้ความริเริ่มเส้นทางสายไหม” (Inclusive, Sustainable and Resilient Cities in the Belt and Road Initiative) “ความริเริ่มเส้นทางสายไหมเพื่อโอกาสใหม่และความร่วมมือครั้งใหม่” (The Belt and Road Initiative for New Opportunities and New Cooperation) และ “ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ออสเตรเลีย” (China-Australia Economic and Trade Relations) โดยฉันทามติเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของระบบพหุภาคีที่มีต่อการร่วมมือระดับโลกหลังการเกิดโรคระบาดและการเผยแพร่แถลงการณ์ Imperial Springs Statement ประจำปี 2564 ได้กลายมาเป็นหัวใจหลักของการหารือดังกล่าว
แถลงการณ์ฉบับนี้ระบุว่า มนุษยชาติถือได้ว่าเป็นประชาคมที่แบ่งปันอนาคตร่วมกัน โดยคณะผู้แทนจากนานาประเทศต่างเห็นชอบต่อการผนึกกำลังกันต่อสู้กับโรคระบาดและปัญหาระดับโลกต่าง ๆ ไม่มีประเทศใดที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงของโควิด-19 ดังนั้น ความสามัคคีและการร่วมมือกันจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นสิ่งที่โลกต้องการมากที่สุดในขณะนี้
นางมาร์กาเร็ต ชาน คณบดีผู้ก่อตั้งสถาบันสาธารณสุขว่านเค่อประจำมหาวิทยาลัยชิงหวา และอดีตผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวที่การประชุมในช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค.ว่า โรคระบาดครั้งนี้เผยให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบการจัดการและความร่วมมือด้านสุขภาพโลก ในโลกที่เชื่อมโยงกันใบนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ฉะนั้น ความร่วมมือระดับโลกถือเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่เรามีร่วมกันและพัฒนาระบบการจัดการด้านสุขภาพโลก
แถลงการณ์ Imperial Springs Statement ประจำปี 2564 ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อยกระดับความร่วมมือระดับพหุภาคี สนับสนุนระบบที่เป็นสากลร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) อย่างลึกซึ้ง และยึดมั่นต่อบรรทัดฐานในการวางระเบียบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนพื้นฐานของหลักการตามกฎบัตร UN
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN ได้เรียกร้องผ่านวิดีโอสำหรับการสร้าง “เครือข่ายที่มีความครอบคลุมและระบบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” โดยแนะนำว่าการใช้ระบบพหุภาคีเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหาที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญร่วมกัน
ขณะที่นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้กล่าวที่การประชุมครั้งนี้ว่า ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรมในสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เสมอภาคทางวัคซีน และความไม่ปลอดภัยทางดิจิทัล ถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกซึ่งต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาระดับโลก โลกจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกันนับตั้งแต่บัดนี้
ส่วนนายเอสโก อาโฮ อดีตนายรัฐมนตรีฟินแลนด์ ระบุว่าประเทศต่าง ๆ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกฎระเบียบอันเป็นสากลและส่งเสริมการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายและรับประกันว่าทุกคนจะ “สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่มีร่วมกัน”
ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ต่างเชื่อว่าหากต้องการแก้ไขปัญหาระดับโลก นานาประเทศควรสนับสนุนค่านิยมร่วมของมวลมนุษยชาติ ส่งเสริมระบบพหุภาคีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เป็นประชาธิปไตย มีเพียงการเร่งผลักดันความสามัคคีและความร่วมมือภายใต้กระบวนทัศน์ในการพัฒนาที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายเท่านั้น โลกจึงจะสามารถสร้างประชาคมที่มีการแบ่งปันอนาคตร่วมกันสำหรับมวลมนุษยชาติขึ้นได้
ที่มา: การประชุม Imperial Springs International Forum ประจำปี 2564