ไต้หวัน-ออสเตรเลีย ร่วมมือพัฒนาจรวดเชิงพาณิชย์


บริษัทผู้ประกอบการด้านอวกาศเชิงพาณิชย์ TiSPACE ของไต้หวัน เปิดเผยแผนทำการทดลองบินจรวดที่มีภารกิจด้านพาณิชย์ลำแรกของออสเตรเลีย ก่อนสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า ยังไม่มีกำหนดการปล่อยจรวดเชิงพาณิชย์ที่พัฒนาภายใต้ความร่วมมือครั้งแรกในอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ของไต้หวันและออสเตรเลีย ซึ่งมีชื่อว่า ฮาปิธ (Hapith) ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของไต้หวัน และมีความหมายว่า “กระรอกบิน” แต่มีข้อมูลว่า จรวดลำนี้จะทำการบินขึ้นจากพื้นที่ส่วนบุคคลแห่งหนึ่งในเขตแหลมแอร์ (Eyre Peninsula) ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย หลังรัฐบาลกรุงแคนเบอร์ราให้การอนุมัติโครงการอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้เอง

ผู้ร่วมพัฒนาโครงการนี้หวังว่า จรวดลำดังกล่าวจะบินไปถึงนอกชั้นบรรยากาศโลก หรือ ที่ระดับความสูงไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล ก่อนที่จะตกกลับมาที่บริเวณท้องน้ำทะเล เพื่อให้ทีมงานนำข้อมูลต่างๆ ทั้งระบบนำร่องและระบบขับเคลื่อนมาศึกษาอย่างละเอียดต่อไป

เจมส์ บราวน์ ซีอีโอ ขององค์กร Space Industry Association of Australia กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะนี่จะเป็นการปล่อยจรวดครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 40 ปีของออสเตรเลีย

บราวน์ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจรวด ฮาปิธ ว่า มีความสูงราว 10 เมตร และพื้นที่ภายในถูกแบ่งเป็น 2 ชั้น โดยจะถูกปล่อยขึ้นที่บริเวณเหนือมหาสมุทรทางใต้ของออสเตรเลีย ขณะที่ การทดลองบินนี้จะเป็นการทดสอบเทคโนโลยีเครื่องยนต์ไฮบริดของไต้หวัน ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จและพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย เชื่อถือได้ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาจรวดลำที่ใหญ่ขึ้นด้วยความสูงประมาณ 20 เมตร และมีความสามารถในการขนส่งน้ำหนักราว 400 กิโลกรัมขึ้นสู่ห้วงอวกาศต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท TiSPACE เป็นบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของไต้หวัน และมีข่าวว่า ตัดสินใจเลือกมาทำการทดสอบการปล่อยยานของตนที่ออสเตรเลีย เพราะปัญหาด้านกำกับกิจการที่ไต้หวัน โดยหนังสือพิมพ์ Taipei Times รายงานว่า พื้นที่ที่บริษัทเลือกใช้เป็นสถานที่ปล่อยจรวดในไต้หวันนั้นเกิดมีปัญหาด้านกฎหมายขึ้นมา

นักวิจัยกล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศของทั้งออสเตรเลียและไต้หวัน ซึ่งล้าหลังประเทศอื่นๆ อยู่พอควร



ลิงค์ที่มา