รัฐบาลไบเดนใช้วิธีอะไรบ้างเพื่อรับมือเงินเฟ้อ


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามรับมือกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงที่สุดในรอบ 31 ปี และฉุดให้คะแนนนิยมของเขาดิ่งลง โดยพยายามแก้ปัญหาการติดขัดของระบบการผลิตและขนส่งสินค้า และแก้ไข “โรคระบาดการค้ากำไรเกินควร” ตามคำนิยามของทำเนียบขาว

นักเศรษฐศาสตร์ต่างระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ เผชิญศึกหนักเนื่องจากไม่มีกลไกใดที่ประธานาธิบดีสามารถ “เคาะ” ครั้งเดียวเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ และยิ่งราคาสินค้าสูงขึ้นนานเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลกระทบในระยะยาวมากขึ้นเท่านั้น ทำให้แก้ปัญหาได้ยากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มาตรการเช่นการให้ท่าเรือดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง จะทำให้สินค้าไปถึงผู้ค้าปลีกได้มากขึ้น แต่ก็เตือนว่าปัญหานี้อาจคงอยู่จนถึงปีหน้า ในขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และธนาคารกลางสหรัฐฯ ย้ำว่า ปัญหาเงินเฟ้อนี้จะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลไบเดนในการรับมือเงินเฟ้อครั้งนี้

เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ปล่อยน้ำมันสำรองสู่ท้องตลาด เพื่อให้ราคาน้ำมันโลกต่ำลง

รัฐบาลไบเดนเรียกร้องให้จีนและประเทศที่ใช้น้ำมันปริมาณมากประเทศอื่นๆ ให้ปล่อยน้ำมันดิบที่เก็บสะสมไว้เข้าสู่ตลาดเพื่อให้ราคาพลังงานโลกต่ำลง หลังสหรัฐฯ ไม่พอใจที่องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือ โอเปก ไม่ยอมเพิ่มการผลิตน้ำมัน

จีนและประเทศอื่นๆ กำลังวางแผนปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ระบุว่า ไม่สามารถปล่อยน้ำมันออกมาได้เพียงเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเท่านั้น

สืบสวนบริษัทพลังงานต่างๆ ว่าจงใจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นหรือไม่

ปธน. ไบเดนขอให้คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ สืบสวน “การกระทำผิดกฎหมาย” ที่อาจเกิดขึ้นในตลาดพลังงาน โดยไบเดนอ้างหลักฐานว่าบรรดาบริษัทพลังงานจงใจทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น

ทางคณะกรรมการเริ่มสอบสวนเมื่อเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีผลการสืบสวนเป็นชิ้นเป็นอันออกมาเนื่องจากเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่า มีการสมรู้ร่วมคิดเพื่อทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจริง นักรณรงค์ระบุว่าลินา ข่าน ประธานคณะกรรมการดังกล่าว อาจใช้อำนาจเพิ่มเติมตามกฎหมายพลังงาน ค.ศ. 2007 เพื่อสืบสวนบรรดาบริษัทพลังงานเพิ่มเติมได้

ตรวจสอบหาสาเหตุค่าธรรมเนียมขนส่งทางเรือพุ่งสูง

เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลไบเดนขอให้คณะกรรมการการเดินเรือแห่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ให้สืบสวนถึงปัญหาค่าธรรมเนียมขนส่งทางเรือ และเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการยื่นเรื่องคัดค้านกลุ่มพันธมิตรเดินเรือต่างๆ ที่ควบคุมเส้นทางการเดินเรือของโลก

ทำเนียบขาวระบุว่า กลุ่มพันธมิตรเดินเรือเหล่านี้ได้รับการยกเว้นจากกฎหมายป้องกันการผูกขาด แต่คณะกรรมการเดินเรือแห่งสหรัฐฯ อาจทำเรื่องคัดค้านได้หากกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายพุ่งสูงหรือการเดินเรือล่าช้าโดยไม่สมเหตุสมผล หรือ “ลดการแข่งขัน (ในตลาดเดินเรือ) อย่างมีนัยสำคัญ”

Biden administration's measures to battle inflation infographic

Biden administration’s measures to battle inflation infographic

แก้ปัญหาสินค้าตกค้างท่าเรือ ขยายเวลาทำการรถบรรทุกขนส่งสินค้า

เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลไบเดนร่วมมือกับสหภาพและท่าเรือต่างๆ กำหนดให้ท่าเรือในนครลอสแอนเจลิสและเมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย มีการดำเนินการตลอดเวลา เพื่อให้มีการขนส่งสินค้ามากขึ้น และขอความร่วมมือให้บริษัทค้าปลีกเจ้าใหญ่ เช่น วอลมาร์ต และ ทาร์เก็ต ให้ลำเลียงสินค้าเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ท่าเรือต่างๆ จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐราว 17,000 ล้านดอลลาร์จากกฎหมายสาธารณูปโภคฉบับล่าสุดที่ผู้นำสหรัฐฯ ลงนาม ทำเนียบขาวยังประกาศว่าจะมีการลงทุนโดยทันทีเพื่อแก้ปัญหาสินค้าติดขัดที่เมืองซาวานนาห์ รัฐจอร์เจีย โดยสร้างลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ชั่วคราวห้าแห่ง

การขาดพนักงานขับรถบรรทุกยังทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้า เมื่อวันที่ 1 กันยายน กระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ ขยายข้อจำกัดการทำงานของพนักงานขับรถเพื่อให้การขนส่งสินค้าฉุกเฉินเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น

สืบสวนบริษัทขายเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่ถึงการกำหนดราคาสินค้าในตลาด

ผู้นำสหรัฐฯ พุ่งเป้าไปที่บริษัทสี่แห่งที่ครองตลาดเนื้อสัตว์ในสหรัฐฯ โดยทำเนียบขาวยืนยันว่าจะ “ปราบปรามการกำหนดราคาที่ผิดกฎหมาย” ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และจัดสรรงบ 1,400 ล้าน ซึ่งเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ผู้ผลิตและคนงานในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ขนาดเล็ก

เล็งผ่อนคลายกำแพงการค้ากับจีน หากจีนตกลงซื้อสินค้าและบริการสหรัฐฯ มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า การผ่อนคลายกำแพงการค้ามูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ต่อสินค้านำเข้าจากจีน อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง

เยลเลนยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ กดดันให้จีนทำตามสัญญาว่าจะซื้อสินค้าและบริการมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน ระยะที่ 1 ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อลดกำแพงการค้า ​

ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ อาจใช้อำนาจตามกฎหมายงบประมาณ ค.ศ. 2015 เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจำกัดหรือห้ามการส่งออกน้ำมันเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี หรือขอให้คณะกรรมการสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กลับไปทบทวนข้อจำกัดที่มีอยู่

(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)



ลิงค์ที่มา